ประเทศซิมบับเว

ซิมบับเว (อังกฤษ: Zimbabwe) มีชื่อทางการคือ สาธารณรัฐซิมบับเว (อังกฤษ: Republic of Zimbabwe) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ทวีปแอฟริกา อยู่ระหว่างแม่น้ำซัมเบซีและแม่น้ำลิมโปโป มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับประเทศแซมเบีย ทิศตะวันออกติดกับประเทศโมซัมบิก ทิศตะวันตกติดกับประเทศบอตสวานา และทิศใต้ติดกับประเทศแอฟริกาใต้ มีพื้นที่ประเทศ 390,580 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวงคือ กรุงฮาราเร

ชื่อประเทศ
ชื่อซิมบับเวมาจากคำว่า “Dzimba dza mabwe” ซึ่งแปลว่าบ้านหินใหญ่ในภาษาโชนา[1] ชื่อนี้ถูกนำมาจากเกรตซิมบับเวซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรเกรตซิมบับเว

ภูมิศาสตร์
ซิมบับเวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ถูกล้อมรอบด้วยประเทศแอฟริกาใต้ทางใต้โดยมีแม่น้ำลิมโปโปกั้นอยู่ บอตสวานาทางตะวันตก แซมเบียทางตะวันตกเฉียงเหนือ และโมซัมบิคทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ซิมบับเวยังมีจุดที่ติดต่อกับประเทศนามิเบียทางตะวันตกอีกด้วย จุดที่สูงที่สุดของประเทศคือภูเขาเนียนกานี ซึ่งสูง 2,592 เมตร

เศรษฐกิจ
การส่งออกของประเทศซิมบับเวในปี 2549
ผลผลิตทางการเกษตรในซิมบับเวลดลงอย่างมาในระยะหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกแร่ธาตุ การเกษตร และการท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ซิมบับเว[3] การทำเหมืองแร่ยังคงเป็นธุรกิจที่ให้กำไรมาก ซิมบับเวมีแหล่งทรัพยากรแพลทินัมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก[4] ซิมบับเวเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปของแอฟริกาใต้[5]

ซิมบับเวมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีตลอดคริสตทศวรรษ 1980 (อัตราการเติบโตของจีดีพีร้อยละ 5.0 ต่อปี) และ 1990 (ร้อยละ 4.3 ต่อปี) อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจเริ่มถดถอยลงตั้งแต่ปี 2000 โดยลดลงร้อยละ 5 ในปี 2000, ร้อยละ 8 ในปี 2001, ร้อยละ 12 ในปี 2002, และร้อยละ 18 ในปี 2003[6] รัฐบาลซิมบับเวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายอย่างหลังจากล้มเลิกความตั้งใจที่จะพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาด เช่นปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงมาก และการขาดแคลนอุปทานของสินค้าต่าง ๆ การที่ซิมบับเวมีส่วนร่วมกับสงครามในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ระหว่างปี 1998 ถึง 2002 ทำให้ต้องสูญเสียหลายร้อยล้านดอลลาร์ออกจากระบบเศรษฐกิจ[7]

เศรษฐกิจที่ดิ่งลงเหวนี้มีสาเหตุหลักมาจากการบริหารที่ล้มเหลวและการคอร์รัปชันของรัฐบาลมูกาเบ และการขับไล่ชาวไร่ผิวขาวกว่า 4,000 คนในระหว่างการจัดสรรที่ดินที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในปี 2000[8][9][10] ซึ่งทำให้ซิมบับเวซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดกลับกลายเป็นผู้นำเข้าแทน[4] ปริมาณการส่งออกยาสูบก็ลดลงอย่างมาก จากรายงานในเดือนมิถุนายน 2007 ของหน่วยปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์ซิมบับเว ประมาณว่าซิมบับเวสูญเสียสัตว์ป่าไปถึงร้อยละ 60 ตั้งแต่ปี 2000 ในรายงานยังได้กล่าวเตือนอีกว่าการสูญเสียพันธุ์สัตว์ป่าและการทำลายป่าไม้อย่างกว้างขวางนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อธุรกิจท่องเที่ยว[11]

ปลายปี 2006 ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้าย รัฐบาลเริ่มประกาศอนุญาตให้ชาวไร่ผิวขาวกลับมาสู่ที่ดินของตนอีกครั้ง[12] มีชาวไร่ผิวขาวเหลืออยู่ในประเทศประมาณ 400-600 คน แต่ที่ดินที่ถูกยึดคืนส่วนใหญ่นั้นกลายเป็นที่ดินเสื่อมสภาพและไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกต่อไป[12][13] ในเดือนมกราคม 2007 รัฐบาลยอมให้ชาวไร่ผิวขาวเซ็นสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว[14] แต่แล้วในปีเดียวกันรัฐบาลก็กลับขับไล่ชาวไร่ผิวขาวออกจากประเทศอีกครั้ง[15][16]

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32 ต่อปีในปี 1998[17] จนถึงร้อยละ 231,000,000 ตามสถิติของทางการในเดือนกรกฎาคม 2008[17] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และทำให้ธนาคารต้องออกธนบัตรใบละ 1 แสนล้านดอลลาร์มาใช้[18] [19] ในเดือนพฤศจิกายน 2008 ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการรายงานว่าอัตราเงินเฟ้อของซิมบับเวพุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 516 ล้านล้านล้านต่อปี และราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 1.3 วัน[20] และนับเป็นภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่เลวร้ายเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์โลก รองจากวิกฤติเงินเฟ้อในฮังการีในปี 1946 ซึ่งราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 15.6 ชั่วโมง[20]

ประชากร
ในปี 2008 ซิมบับเวมีประชากรประมาณ 11.4 ล้านคน[21] จากรายงานขององค์การอนามัยโลก อายุคาดหมายเฉลี่ยสำหรับผู้ชายชาวซิมบับเวคือ 37 ปี และสำหรับผู้หญิงคือ 34 ปี ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดของปี 2004[22] อัตราการติดเชื้อเอดส์ ในประชากรระหว่างอายุ 15-49 ปี ถูกประมาณไว้ที่ร้อยละ 20.1 ในปี 2006[23]

ประชากรประมาณร้อยละ 98 เป็นชาวพื้นเมืองผิวดำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโชนา (ประมาณร้อยละ 80-84) รองลงมาคือชาวเดเบเล (ประมาณร้อยละ 10-15)[24][25] ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากซูลูที่อพยพมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ยังมีคนผิวขาวซึ่งส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวอังกฤษ

ภาษาทางการคือภาษาอังกฤษ[21] แต่ภาษาที่ใช้มากได้แก่ภาษาโชนา และภาษาเดเบเล[26]

วัฒนธรรม
ภาษาที่ใช้ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ และมีภาษาพื้นเมืองอื่น ๆ คือ Shona Sindebele ศาสนา ลัทธิผสม (ระหว่างศาสนาคริสต์และความเชื่อดั้งเดิม) 50% ศาสนาคริสต์ 25% ความเชื่อดั้งเดิม 24% ศาสนาอิสลามและอื่น ๆ 1%

ใส่ความเห็น

ใส่ความเห็น